ความเกรงใจเป็นคุณสมบัติที่ทุกคนควรจะมีเพราะจะทำให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ในทางตรงข้ามหากไม่มีความเกรงใจเลย ก็จะนำไปสู่การกระทบกระทั่งได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากความเกรงใจแบบไม่มีเหตุผลหรือมากเกินไป ก็จะเป็นการเปิดช่องทางให้คนเห็นแก่ตัวเอาเปรียบได้ โดยเฉพาะคนไทยมีนิสัยขี้เกรงใจเป็นทุนเดิม จึงมักจะพูดคำว่า “ไม่เป็นไร” เพราะปฏิเสธไม่เป็น ทำให้รู้สึกอึดอัดใจที่จะต้องปฏิเสธจนถึงขั้นตัวเองต้องเดือดร้อน

ความเกรงใจ มี 2 สาเหตุ คือ สาเหตุแรก เกิดจากความรัก ทำให้ไม่อยากปฏิเสธเพราะปรารถนาให้เขามีความสุขหรือไม่รู้สึกเสียใจ สาเหตุที่สอง เกิดจากความกลัวว่าเขาจะไม่รัก เกลียดหรือกลัวถูกตำหนิ ด้วยเหตุนี้ เราจึงมาบอกวิธีเกรงใจอย่างสมดุล ดังต่อไปนี้

วิธีเกรงใจอย่างสมดุล

วิธีแรก ตั้งคำถามกับตัวเองก่อนที่จะเกรงใจ

เริ่มต้นด้วยการคิดว่า ทำไมต้องเกรงใจผู้อื่น เพราะรู้สึกรักเขาหรือกลัวว่าเขาไม่รัก การตั้งคำถามกับตัวเองแบบนี้เพื่อช่วยให้คุณตอบคำถามให้กับตัวเองได้ และตัดสินใจที่จะเกรงใจหรือไม่เกรงใจง่ายขึ้น

วิธีที่ 2 สังเกตว่าการเกรงใจก่อประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นหรือไม่

การมองว่าสิ่งที่กำลังจะเกรงใจเป็นประโยชน์หรือไม่ เช่น ช่วงนี้งานยุ่งมากแต่เพื่อนชวนไปดูคอนเสิร์ต ถ้าเป็นเช่นนี้ควรจะปฏิเสธอย่างนุ่มนวลหรือถนอมน้ำใจและหลีกเลี่ยงการปฏิเสธแบบไร้เยื่อใยเพื่อรักษามิตรภาพ ด้วยการพูดว่า ช่วงนี้ต้องเคลียร์งานให้เสร็จก่อนหรือถ้ามีคนรู้จักชวนซื้อวิตามินเสริม หากสุขภาพไม่ดีจริง เป็นจังหวะที่ดีที่จะอุดหนุนเขาซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งเขาและเรา ในทางตรงข้ามถ้าคุณสุขภาพดีอยู่แล้ว เขาชวนซื้อก็ควรปฏิเสธไป ซื้อไปก็ไม่ก่อประโยชน์ให้กับตัวเองแต่อย่างใด

วิธีที่ 3 สังเกตว่าการเกรงใจเกิดโทษให้กับตัวเองและผู้อื่นหรือไม่

สิ่งที่เกิดโทษ เช่น สุขภาพไม่ดีแต่เกรงใจเพื่อนที่ชวนไปดื่มสุรา ก็จะทำให้สุขภาพของตัวเองแย่ลงได้ มีเพื่อนชวนลงทุนแต่คุณรู้สึกว่าเสี่ยงเกินไปและไม่มั่นใจที่จะลงทุน เพื่อนขอลอกข้อสอบแต่เกรงใจจึงให้ลอกได้ก็จะเกิดโทษทั้งผู้ให้ลอกและผู้ลอก สิ่งเหล่านี้จะดีกว่าที่จะปฏิเสธไปเลย และไม่ต้องคิดมากว่า ถ้าไม่ตามเพื่อนแล้วเขาจะเลิกคบเรา เนื่องจากเป็นความเกรงใจที่เสียประโยชน์และนำมาซึ่งความเสียหายนั่นเอง

สำหรับบางเรื่องก็ไม่ควรปฏิเสธแต่อาจจะยื่นข้อเสนอต่อรอง เช่น มีคนเคยช่วยเหลือเกื้อกูลเรามาก่อน แต่เมื่อถึงคราวที่เขาลำบากแล้วมาขอยืมเงิน เราก็ควรจะช่วยเหลือเท่าที่สามารถทำได้ ถ้าเขาขอหนึ่งแสนแต่เรามีแค่หลักหมื่น ก็ต่อรองว่าไม่สามารถให้ตามจำนวนที่ขอได้ แต่จะให้ในระดับที่เราช่วยเหลือได้เท่านั้น ดังนั้น วิธีที่ได้กล่าวข้างต้น บ่งบอกการมีจุดยืนในการเกรงใจอย่างสมดุล ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนควรมี เพื่อป้องกันคนเอาเปรียบได้อย่างดีเลยทีเดียว

วิธีเกรงใจอย่างสมดุล