Category: สุขภาพ

ปัญหากลิ่นปากเกิดจากอะไร เรื่องใกล้ตัวที่คุณควรรู้

สาเหตุที่พบได้บ่อยของปัญหากลิ่นปาก

การมีกลิ่นปากเป็นสิ่งที่บั่นทอนความเชื่อมั่น ส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพ ไม่ว่าจะเป็นวัยเรียนหรือวัยทำงาน สาเหตุของกลิ่นปากมีทั้งปัจจัยภายนอก เช่น อาหารที่รับประทาน การดูแลความสะอาดในช่องปาก และอาจมาจากโรคภายในร่างกายของคุณ ซึ่งสามารถที่จะแก้ไขหรือป้องกันได้ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

สาเหตุที่พบได้บ่อยของปัญหากลิ่นปาก

1. การดูแลสุขอนามัยในช่องปากที่ไม่เหมาะสม เช่น การแปรงฟันไม่ถูกวิธี ละเลยการใช้ไหมขัดฟันหรือน้ำยาบ้วนปาก จึงมีคราบพลัคสิ่งสกปรกและแบคทีเรียสะสมทำให้มีกลิ่นปากง่าย

2. ผู้ที่ใช้เครื่องมือทางทันตกรรม เช่น ฟันปลอม จัดฟัน หากแปรงฟันไม่ดีพอ หรือไม่ทำความสะอาดเครื่องมืออย่างเหมาะสม จะทำให้มีปัญหากลิ่นปากตามมาได้

3. ภาวะโรคเหงือกอักเสบและฟันผุ ภายในช่องปากของเราจะมีแบคทีเรียสะสมจากคราบอาหาร ทำให้มีอาการอักเสบของเหงือกและฟันได้ ถ้าทำความสะอาดไม่ถูกหลัก อาจทำให้ฟันผุลึกถึงขั้นต้องถอนฟันทิ้งและมีปัญหากลิ่นปากขั้นรุนแรง ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการแปรงฟันหรือใช้น้ำยาบ้วนปากได้

4. การรับประทานอาหารที่มีกลิ่นแรง เช่น สะตอ หัวหอม กระเทียม จะทำให้มีกลิ่นปากง่าย และหากรับประทานบ่อย ๆ จะส่งผลให้กลิ่นตัวแรงด้วย

5. การดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ จะทำให้เกิดกลิ่นตัวและกลิ่นปากแบบรุนแรงได้ด้วย

6. กรณีที่เด็กมีกลิ่นปากแรง มักเกิดจาการติดเชื้อภายในโพรงจมูก หรือต่อมทอนซิลในคอ ซึ่งอาจทำให้มีอาการไอ เสมหะ น้ำมูก มีไข้ ร่วมด้วย ผู้ปกครองต้องสังเกตอาการความผิดปกติหลาย ๆ ด้านปัญหากลิ่นปากเกิดจากอะไร เรื่องใกล้ตัวที่คุณควรรู้

เทคนิคแก้ปัญหากลิ่นปาก

1. ควรแปรงฟันอย่างถูกวิธี ด้วยแปรงสีฟันที่มีปลายขนอ่อนนุ่มและซอกซอนได้ล้ำลึก ควบคู่กับการใช้ไหมขัดฟันและน้ำยาบ้วนปากเป็นประจำ จะช่วยกำจัดเศษอาหารตามร่องเหงือกและฟัน สาเหตุของกลิ่นปากได้

2. ควรใช้เม็ดฟู่ทำความสะอาดฟันปลอมและอุปกรณ์จัดฟันอื่น ๆ เป็นประจำ

3. งดการรับประทานอาหารที่มีกลิ่นแรงเมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น หรือใช้สเปรย์ ลูกอมลดกลิ่นปากหลังรับประทานอาหารทุกครั้ง

4. ลดการสูบบุหรี่ดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้เหงือกและฟันแข็งแรง ลดการติดเชื้อในช่องปาก จึงลดกลิ่นปากได้ดีขึ้น

5. ควรพบทันตแพทย์เป็นประจำ เพื่อตรวจหาอาการผิดปกติของเหงือกและฟันทุก 6-12 เดือน จะลดความเสี่ยงการมีกลิ่นปากได้

กลิ่นปากเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนต้องใส่ใจ เพราะหมายถึงการดูแลสุขภาพเหงือกและฟันที่ไม่ทั่วถึง หรืออาจมาจากพฤติกรรมการบริโภคและใช้ชีวิตที่ทำลายบุคลิกภาพที่ดีได้ เราหวังว่าบทความนี้ จะทำให้ทุกท่านหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพในช่องปากมากขึ้น

แนะ 5 เคล็ดลับ เพื่อสุขภาพกายใจที่ดีอย่างยั่งยืน

การดำเนินชีวิตในแต่ละวันของแต่ละคน อาจต้องพบเจอกับปัญหามากมาย ทั้งเรื่องการเรียน การศึกษา การงาน การทำมาหากิน เรื่องของปากท้อง และเรื่องของหัวใจ ทั้งหมดอาจสร้างความเครียด ความเบื่อหน่าย และความเหนื่อยล้าให้กับร่างกายและจิตใจของพวกเราอย่างไม่รู้ตัว ดังนั้นการดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจ จึงเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่น เพราะสุขภาพกายใจที่ดี จะนำพามาซึ่งชีวิตที่มีความสุข ดังเช่นคำกล่าวที่ว่า “อโรคยา ปรมาลาภา” หมายถึง ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ นั่นเอง แต่การดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงแจ่มใสและอยู่ในสภาพที่ดีอยู่เสมอนั้น มีเคล็ดลับอย่างไรบ้าง เรามาดูไปพร้อม ๆ กัน

1. พักผ่อนอย่างเพียงพอ

ในที่นี้หมายถึงการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งร่างกายของแต่ละคนนั้นต้องการการพักผ่อนที่มากน้อยแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดควรสังเกตว่าตนเองพักผ่อนประมาณกี่ชั่วโมง จึงจะรู้สึกดี ตื่นมาแล้วไม่เหนื่อยเพลีย แต่ก็ไม่ปวดหัวเหมือนกับอาการของคนที่นอนหลับมากจนเกินไป โดยปกติแล้ว ควรนอนให้ได้ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน

แนะ 5 เคล็ดลับ เพื่อสุขภาพกายใจที่ดีอย่างยั่งยืน

2. เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

ของอร่อยมีอยู่ทุกที่ ของน่ากินมีอยู่ทุกซอย แต่การตามใจปาก เลือกกินแต่ของที่อยากกิน โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร อาจนำพามาซึ่งโรคร้ายหลากหลายประเภท ดังนั้นการเลือกรับประทานอาหาร จึงกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการดูแลสุขภาพ หลายคนอาจคิดว่าอาหารที่ดีต่อสุขภาพนั้น ไม่อร่อยถูกปากเท่าไหร่ แต่เชื่อเถอะว่าอาหารที่ดีต่อสุขภาพก็มีรสชาติที่อร่อยถูกปากได้ หากเปิดใจยอมรับประทานในช่วงแรก ๆ หรือหากรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพแล้วอยากจะรับประทานของโปรดของตนเองบ้าง ก็ปรับเป็นรับประทานของโปรดนาน ๆ ทีก็ได้ แค่นี้อะไร ๆ ก็ลงตัวมากขึ้นแล้ว

3. ฝึกทำสมาธิ หรือแบ่งเวลาไว้เพื่อพักผ่อนทางจิตใจ

เมื่อร่างกายต้องการพักผ่อน จิตใจเองก็ต้องการการพักผ่อนด้วยเช่นเดียวกัน แต่การพักผ่อนทางจิตใจนั้นมีหลากหลายวิธี แล้วแต่ความชอบและความถนัดของแต่ละบุคคล บางคนเมื่อได้ลองฝึกทำสมาธิ ก็มีจิตใจที่ปลอดโปร่งโล่งเบาสบายมากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน คิดไอเดียออกง่ายขึ้น และแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ดีขึ้น มีสติมากขึ้น บางคนอาจใช้วิธีสวดมนต์ หรือทำงานอดิเรกที่ตนเองชอบ เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดที่สะสมอยู่ในจิตใจ

4. ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย

การออกกำลังกายที่ดี คือการออกกำลังกายอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเลือกชนิดให้เหมาะสมกับร่างกาย เช่น หากมีอาการบาดเจ็บที่เข่าในช่วงนี้ ก็ใช้วิธีว่ายน้ำออกกำลังกาย เมื่อหายดีก็วิ่งออกกำลังกายสลับกับโยคะ และปั่นจักรยาน แน่นอนว่าการออกกำลังกายนั้นมีผลดีกับร่างกายอย่างมาก แต่หากเลือกวิธีที่ไม่เหมาะกับตัวเอง และหักโหมมากจนเกินไป ก็อาจทำให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์ได้เช่นกัน และอย่าลืมที่จะแบ่งเวลามาออกกำลังกายเล็ก ๆ น้อย ๆ ในทุกวัน หรือจะออกกำลังกายอย่างเป็นเรื่องเป็นราว อย่างน้อย 3-4 วันต่อสัปดาห์ก็ได้

5. แบ่งเวลาให้กับตัวเองและครอบครัว

เพื่อสุขภาพกายใจที่ดีอย่างยั่งยืน

หลายคนมองข้ามการให้เวลากับตัวเองและครอบครัว มัวแต่ทำงานหามรุ่งหามค่ำ จนไม่ได้พักผ่อนหรือมีเวลามากพอที่จะมองเห็นและรับกำลังใจจากตัวเองและคนรอบข้าง เชื่อหรือไม่ว่าการให้เวลากับตัวเอง ให้ได้ทำอะไรที่อยากทำ การให้เวลากับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงและคนที่คุณรัก จะช่วยสร้างพลังงานใหม่ ๆ เพื่อให้มีแรงกำลังสู้ต่อไปได้เป็นอย่างดี

เมื่อใส่ใจที่จะดูแลสุขภาพร่างกายแล้ว ก็อย่าลืมดูแลสุขภาพจิตใจกันด้วย เพราะสุขภาพจิตที่ดี ไม่ได้ช่วยให้จิตใจของตัวเองดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังสามารถเผื่อแผ่พลังบวกและพลังใจส่งต่อให้กับคนรอบข้างได้อีกด้วย รู้เคล็ดลับดี ๆ แบบนี้แล้ว ก็ทดลองเอาไปทำตามกันได้ทันที เพราะเราอยากให้ทุกคนมีสุขภาพกายใจที่ดีอยู่เสมอ และตลอดไป